หน้าแรก > ต่างประเทศ

รัฐสภาสหราชอาณาจักรเห็นชอบร่างกม.ช่วยผู้ป่วยระยะสุดท้ายจบชีวิต

วันที่ 1 ธันวาคม 2567 เวลา 16:12 น.


ลอนดอน, 30 พ.ย. (ซินหัว) — รัฐสภาสหราชอาณาจักรลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายที่จะทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายจบชีวิตเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เมื่อวันศุกร์ (29 พ.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดความเห็นแตกต่างกันไปทั่วประเทศ

หลังจากการอภิปรายในสภาสามัญเป็นเวลา 5 ชั่วโมง การลงมติสิ้นสุดลงด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 330 เสียง และไม่เห็นด้วย 275 เสียง

ร่างกฎหมายผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย (The Terminally Ill Adults Bill) หรือที่เรียกอีกชื่อว่าร่างกฎหมายการจบชีวิต มีวัตถุประสงค์เปิดทางให้ผู้ใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยระยะสุดท้ายสามารถร้องขอและรับความช่วยเหลือในการยุติชีวิตของตนเองได้ โดยต้องอยู่ภายใต้มาตรการดูแลและคุ้มครองที่เข้มงวด ทั้งยังประกอบด้วยบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องเพื่อรับรองการกำกับดูแลและปฏิบัติตาม

ภายใต้ข้อเสนอนี้ บุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในอังกฤษและเวลส์ ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยระยะสุดท้ายที่คาดว่าจะทำให้เสียชีวิตภายในหกเดือน จะมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ยื่นคำร้องได้ โดยบุคคลดังกล่าวจะต้องแสดงให้เห็นถึงสมรรถภาพทางจิตใจในการตัดสินใจโดยสมัครใจ และรับทราบข้อมูลที่ครบถ้วน

การจบชีวิตแต่ละกรณีจะต้องได้รับการอนุมัติจากศาลสูง กระบวนการนี้กำหนดให้ผู้ป่วยยุติชีวิตด้วยตัวเองด้วยการใช้ยาที่จ่ายโดยแพทย์ หลังจากผ่านระยะเวลาไตร่ตรองตามข้อบังคับ ซึ่งระหว่างนั้นผู้ป่วยจะต้องยืนยันเจตนาของตนผ่านคำประกาศครั้งที่สอง

หลังจากผ่านการพิจารณาขั้นต้นในสภาสามัญแล้ว ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบอย่างละเอียดและลงมติเพิ่มเติมในทั้งสองสภาของรัฐสภาสหราชอาณาจักร ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย

กลุ่มผู้สนับสนุนมองว่าผลลัพธ์ครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญ พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของทางเลือกและศักดิ์ศรีในช่วงสุดท้ายของชีวิต

แอนดรูว์ คอปสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฮิวแมนนิสต์ ยูเค (Humanists UK) เผยว่าการช่วยผู้ป่วยจบชีวิต “เกิดขึ้นอยู่แล้วในประเทศนี้” โดยบางคนต้องเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเข้ารับขั้นตอนดังกล่าว ขณะที่บางคนเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายจากการเลือกที่จะฆ่าตัวตาย

ด้านกลุ่มผู้คัดค้าน ซึ่งรวมถึงกลุ่มรณรงค์แคร์ นอต คิลลิง (Care Not Killing) ในสหราชอาณาจักร โต้แย้งว่าควรเน้นไปที่การปรับปรุงระบบการดูแลแบบประคับประคองและระบบดูแลสังคมแทน ส่วนนักวิจารณ์บางคนแสดงความกังวลว่าร่างกฎหมายนี้อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางอย่างไม่สมส่วน รวมถึงชนกลุ่มน้อย ผู้ที่มีภูมิหลังยากจน หรือผู้พิการ

กอร์ดอน แมคโดนัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแคร์ นอต คิลลิง เผยว่ากฎหมายปัจจุบันของเราปกป้องผู้คนที่เปราะบางและไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ในทางกลับกัน เราต้องให้ความสำคัญกับการให้การดูแลแบบประคับประคองที่ดีที่สุดแก่ผู้ที่ต้องการ

การพิจารณาวาระที่สองเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ย.) ถือเป็นครั้งแรกที่สภาสามัญได้อภิปรายเกี่ยวกับร่างกฎหมายช่วยเหลือการจบชีวิตตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งในตอนนั้นมีการอภิปรายเกี่ยวกับข้อเสนอที่คล้ายคลึงกันและสุดท้ายถูกปัดตกไป

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม