หน้าแรก > สังคม

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับมือ สหราชอาณาจักร อัปเกรด “สถานีตำรวจนำร่อง” ใช้ 4 แนวทางใหม่สู่สากล

วันที่ 20 ธันวาคม 2567 เวลา 21:49 น.


วันที่ 20 ธันวาคม 2567 พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) พร้อม คุณ David Thomas อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย และ คุณ David Lawes ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสหราชอาณาจักร และ เจ้าหน้าที่ตำรวจราชอาณาจักรนอร์ทธัมเบรีย ร่วมติดตามความคืบหน้าโครงการ “สถานีตำรวจนำร่อง” ที่ สน.ปทุมวัน พร้อมประชุมหารือร่วมกันโดยมีตัวแทน สภ.เมืองจันทบุรี ร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting ด้วย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กำหนดให้ สน. ปทุมวัน และ สภ.เมืองจันทบุรี เป็น 2 สถานีตำรวจนำร่อง ที่นำโมเดลของสหราชอาณาจักรมาประยุกต์ใช้ปรับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของผู้ต้องหา ขณะเดียวกันสร้างความปลอดภัยในการให้บริการแก่ประชาชน และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยตำรวจไทย และเจ้าหน้าที่ของสหราชอาณาจักรได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ศึกษาดูงาน และพัฒนาร่วมกันมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567

โครงการ “สถานีตำรวจนำร่อง” เน้นการนำ 4 แนวทางปฏิบัติใหม่ เข้ามาปรับใช้ ได้แก่

  • ปรับปรุงโครงสร้างห้องขัง - เพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่ควบคุมผู้ต้องหา โดยจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับการตรวจค้น ห้องทำบันทึกจับกุม ห้องสอบสวน และห้องปฐมพยาบาล พร้อมดำเนินการภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน
  • ประเมินความเสี่ยง - ตรวจสอบความเสี่ยงทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้ต้องหา เพื่อลดโอกาสการเกิดเหตุการณ์รุนแรงหรือการบาดเจ็บระหว่างควบคุมตัว
  • บันทึกข้อมูลผู้ต้องหา - จัดเก็บข้อมูลรายละเอียด เช่น ประวัติสุขภาพ อาการเจ็บป่วย หรือการแพ้ยา รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างควบคุมตัว เพื่อความปลอดภัยของผู้ต้องหา ความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
  • ควบคุมตัวภายใต้กล้องวงจรปิด - ผู้ต้องหาจะถูกควบคุมให้อยู่ในห้องขังพร้อมติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด เพื่อเพิ่มมาตรการความปลอดภัยและการติดตามตรวจสอบ โดยจะมีการกำหนดการระดับการดูแลและวงรอบในการตรวจความเป็นอยู่ของผู้ต้องหา

นอกจากนี้ โครงการสถานีตำรวจนำร่องได้ทดลองใช้งานกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Body Cameras) ควบคู่กับ ระบบการบริหารจัดการข้อมูลดิจิทัล เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ความปลอดภัยในการบริหารจัดการข้อมูล และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติงานในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการควบคุมตัวผู้ต้องหา ซึ่งจะป้องกันการทรมาน การกระทำที่ผิดกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดป้องกันการบาดเจ็บและการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว

“ทุกกระบวนการจะถูกบันทึกอย่างโปร่งใส มีการตรวจสอบจากผู้บังคับบัญชาหลายระดับ (cross-check) และในอนาคตจะทำการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับบันทึกการควบคุมตัว ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวยังสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565” จเรตำรวจแห่งชาติกล่าว

 

 

 

 

 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม