หน้าแรก > สังคม

มท.1 สั่งยกระดับมาตรการแก้ปัญหา PM2.5 "ย้ำบังคับใช้กฏหมายห้ามเผา” อย่างเคร่งครัด กำชับผู้ว่าฯ สั่งการด้วยระบบ Single Command

วันที่ 29 มกราคม 2568 เวลา 18:46 น.


มท.1 สั่งยกระดับมาตรการแก้ปัญหา PM2.5 "ย้ำบังคับใช้กฏหมายห้ามเผา” อย่างเคร่งครัด พร้อมกำชับผู้ว่าฯ สั่งการด้วยระบบ Single Command ชี้หน่วยงานทุกภาคส่วนต้องบูรณาการทำงานอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ไขปัญหา ตามข้อสั่งการนายกฯ

วันนี้ (29 ม.ค. 68) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมราชสีห์ อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม และประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และจากการติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่องพบว่าสถานการณ์ฝุ่นในหลายพื้นที่ยังมีเกินค่ามาตรฐาน รัฐบาลจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเต็มกำลังเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชน โดยตนได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการทุกมาตรการอย่างเข้มข้นในทุกมิติ บังคับใช้กฎหมายห้ามเผาอย่างเคร่งครัด และบูรณาการทุกหน่วยงานในการระดมสรรพกำลังในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ และทำงานโดยใช้ระบบการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command)

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า แม้สภาพอากาศในห้วงสองวันที่ผ่านมามีลมหนาวพัดเข้ามาปกคลุมพื้นที่ประเทศไทย ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น แต่ยังคงต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ค่าฝุ่น PM 2.5 กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว โดยขอย้ำให้หน่วยงานทุกภาคส่วน จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยนำแนวทางมาตรการของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติไปขับเคลื่อนการปฏิบัติให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

" ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาในพื้นที่การเกษตร ในตรงนี้ตนมองว่าเราต้องควบคุมการเผาในพื้นที่ประเทศไทยก่อน เพื่อที่ประเทศเพื่อนบ้านจะได้ให้ความร่วมมือ และอาจนำการ sanction งดซื้อหรือนำเข้าสินค้าจากประเทศที่มีการเป็นต้นเหตุของปัญหา ทั้งนี้ สำหรับมาตรการลดการเผาในพื้นที่ต้องขอความร่วมมือกับเกษตรกรใช้การฝังกลบแทนการเผา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนและจัดหาเครื่องทุ่นแรงเพื่อให้เกษตรกรเลิกการเผา“

นายอนุทิน ยังกล่าวย้ำว่า “หน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทั่วถึง ครอบคลุม ไม่มีผ่อนปรน แม้ประชาชนบางส่วนอาจบอกว่าไม่ทราบว่ามีมาตรการนี้มาก่อนและขอผ่อนผันการดำเนินการทางกฎหมาย ตรงนี้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า โดยใช้กลไกของท้องถิ่น ท้องที่ อาสาสมัคร แจ้งประชาชนถึงการคุมเข้มและการรับผิดทางกฎหมาย หากมีการกระทพผิดเกี่ยวกับการทำให้เกิดไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ทุกจังหวัดต้องมีการรณรงค์อย่างเต็มที่เพื่อลดการหยุดเผาควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายป้องปราม ตรวจจับ และดำเนินคดี อย่างไม่มีข้อยกเว้นในทุกกรณี และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเต็มที่ด้วยการสั่งการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ Single Command เพื่อควบคุมการเผาและการเกิดฝุ่นพิษในพื้นที่“

“สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ เราต้องยกระดับ 6 มาตรการสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเร่งด่วน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามข้อสั่งการอย่างเคร่งครัด โดยมาตรการด้านการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์อย่างทันท่วงที ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สนับสนุนข้อมูลและคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์เพื่อให้วางแผนการแก้ไขปัญหาล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ รวมถึงประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ แนวทางการปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ในส่วนของมาตรการป้องกันปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเผาอย่างเด็ดขาด ให้หน่วยงานทำงานทั้งเชิงรุกและรับเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ลดการเกิดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ อย่างครอบคลุม โดยแบ่งการจัดการปัญหาเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เมือง รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดการหมอกควันข้ามแดน สำหรับมาตรการลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนให้มีน้อยที่สุด ยังคงเน้นการออกหน่วยบริการประชาชน การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น และการเตรียมพื้นที่ปลอดภัยและห้องปลอดฝุ่นไว้บริการประชาชนอย่างเหมาะสมและเพียงพอ และเพิ่มการประสานหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานราชการให้ปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบ อาทิ การ Work from Home การตรวจสภาพรถยนต์ไม่ให้ควันดำ การลดการใช้ยานยนต์ที่มีการสันดาปและก่อให้เกินควัน ส่วนด้านมาตรการการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างเข้มข้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการแบบเบ็ดเสร็จด้วยรูปแบบ Single Command โดยมีหน่วยงานในพื้นที่ร่วมสนับสนุนข้อมูล อุปกรณ์ เครื่องจักรกล ตลอดจนปฏิบัติตามข้อสั่งการและนำมาตรการต่าง ๆ ไปบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ในส่วนของมาตรการสนับสนุนงบประมาณ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งรัดกระบวนการพิจารณางบประมาณเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่หน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้ทันต่อสถานการณ์ สำหรับมาตรการสุดท้ายคือมาตรการขับเคลื่อนกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ซึ่งจะเน้นการติดตามสถานการณ์และผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาล่วงหน้า และให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที โดยกำหนดให้มีการจัดประชุมร่วมกันทุกภาคส่วนเป็นประจำทุกวันเพื่อรายงานสถานการณ์และผลการปฏิบัติงาน พร้อมกับการจัดตั้งข้อมูลข่างสารร่วม (JIC) สื่อสารข้อมูลสถานการณ์และประชาสัมพันธ์ข้อแนะนำในการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องเป็นประจำจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย” นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อย่างใกล้ชิด พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านการพยากรณ์เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชน และการสนับสนุนทรัพยากร อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ร่วมปฏิบัติการในระดับพื้นที่ โดยปัจจุบัน ได้สั่งเตรียมพร้อมเครื่องจักรกลปฏิบัติการ ด้านภัยจากไฟป่าและหมอกควัน ประจำศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ให้พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติการลดผลกระทบจากปัญหาไฟป่า หมอกควัน และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของพื้นที่ รวมถึงได้สั่งการให้เฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 2 ลำ พร้อมทีมนักบิน ช่างประจำอากาศยาน และเจ้าหน้าที่กู้ภัยบนอากาศยาน ไปประจำการ ณ ฐานปฏิบัติการกองพลทหารราบที่ 7 จ.เชียงใหม่ จำนวน 1 ลำ และประจำการ ณ ฝูงบิน 416 จ.เชียงราย จำนวน 1 ลำ ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าในพื้นที่ภูเขาสูงที่ยากต่อการเข้าถึง  

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการเผาป่า เผาหญ้า หรือทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 สามารถแจ้งหน่วยงานในพื้นที่ให้เข้าระงับเหตุและบังคับใช้กฎหมายได้โดยตรง หรือโทรแจ้งสายด่วนนิรภัย 1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อประสานดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง  

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ