วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 11:43 น.
บรรยากาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ในขณะนี้กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่หลั่งไหลเดินทางมากราบสักการะและเวียนทักษิณาวรรตรอบพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขี้น
ทุกวันเวลา ๑๐.๐๐ น.และเวลา ๑๖.๐๐ น. มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตตภาวนา ชมนิทรรศการและชมการจัดสวนแสงอันงดงาม เพื่อขอพรและความเป็นสิริมงคลของชีวิตและครอบครัว
มณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ออกแบบและจัดสร้างโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นอาคารเครื่องยอด นับเป็นอาคารที่มีฐานานุศักดิ์สูงสุดในงานสถาปัตยกรรมไทย เหมาะแก่การใช้ประดิษฐานสิ่งสำคัญ อาทิ พระบรมสารีริกธาตุ โดยผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมเอกลักษณ์ของไทยและจีนได้อย่างลงตัว โดยอาคารยังคงเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะไทยผ่านลวดลายปูนปั้นลายกนก ดอกบัว และลวดลายปิดทองที่ใช้ตกแต่งฐานและเสา พร้อมนำองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมจีนโดยการออกแบบยอดของมณฑปให้มีลักษณะคล้ายเจดีย์จีน การใช้สีแดงและสีทองพร้อมตัวอักษรจีนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคลมาประดับผสมผสานได้อย่างกลมกลืน เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ ผู้ที่ได้มากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เสมือนได้บันทึกความประท้บใจเป็นความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิต
เนื่องในวันมาฆบูชา พุทธศักราช ๒๕๖๘
รัฐบาล ขอเชิญชวนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนร่วมกิจกรรมวันมาฆบูชา วันพุธที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
- เวลา ๐๗.๐๐ น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์และพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน ๗๓ รูป
- เวลา ๐๘.๐๐ น. พิธีเวียนเทียน บริเวณมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)
ประชาชนสามารถมากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ได้ถึงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. และวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘จะมีขบวนเกียรติยศอัญเชิญกลับสาธารณรัฐประชาชนจีน ขอเชิญชวนประชาชนน้อมส่งพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ น. - ๐๗.๐๐ น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง